ติดตั้ง Ongrid หลายตัว ทำได้หรือไม่

สำหรับนักเล่นโซลาร์เซลมือใหม่ อาจจะเริ่มจากการซื้อหาอุปกรณ์ราคาเบาๆ กำลังการผลิตไม่สูง ประเภท 1kW 2kW จนกระทั่งมีความชำนาญก็เริ่มเพิ่มแผง เพิ่ม inverter เข้าไปเรื่อยๆ คำถามก็คือเราจะขนานเครื่อง ongrid inverter หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า grid tie inverter ได้สูงสุดเท่าใดกันแน่ วันนี้เรามาหาคำตอบกันนะครับ
ทำไมต้องติดตั้งระบบ on grid
แน่นอนว่าการติดตั้งระบบโซลาร์เซลที่ให้ความคุ้มค่าในการลงทุนมากที่สุด คงหนีไม่พ้นระบบ on grid หรือ grid tie เนื่องจากไม่ต้องลงทุนในการกักเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอร์รี่ ซึ่งมีราคาแพงและอายุการใช้งานที่ไม่นานนัก
อย่างเช่นลงทุนระบบ on grid ขนาด 3kW ใช้เงินทุนราวๆ 60,000 – 70,000 บาท (โดยประมาณ) ซึ่งเงินที่ใช้ไปส่วนใหญ่ก็หมดไปกับค่าแผง (400w x 8 = 3.2kW 32,000 บาท) และค่า inverter ราวๆ 15,000 บาท ที่เหลือก็ค่าอุปกรณ์ในการติดตั้งบนหลังค่า ค่าเบรกเกอร์ สายไฟ
ถ้าจะให้ลงทุนในแบบเดียวกันเพื่อทำระบบ off grid ให้ได้ขนาด 3kW และจำนวนแผงเท่าๆเดิม ราคา inverter ก็ไม่ห่างกันมาก แต่ค่าแบตเตอร์รี่ที่จะเก็บพลังงานขนาด 15kW-Hour ก็จะตกราวๆ 30,000 – 40,000 บาท ซึ่งหากจะคิดค่าใช้จ่ายตรงนี้เข้าไปด้วย นับว่าสูงมากเพราะอายุการใช้งานของแบตเตอร์รี่ก็เพียง 5 ถึง 7 ปี เต็มที่ สรุปได้ว่าระบบ ongrid น่าจะคุ้มทุนเร็วกว่า

ขนาน on grid ได้หรือไม่
หากท่านซื้อหา inverter แบบ on grid ตัวเล็กๆมาหลายๆ ตัว แต่ละตัวแยกระบบแผงระบบเบรกเกอร์ออกจาก แต่แน่นอนว่าระบบปลายทาง ต้องเข้ามาเชื่อมโยงร่วมกัน คือการขนานเข้ากับระบบไฟฟ้าที่มาจากเสาไฟหน้าบ้านอยู่ดี
การขนานระบบ on grid หลายตัวๆนั้นสามารถทำได้อยู่แล้ว
เพราะ inverter จะมีความฉลาดในตัว ในการที่จะจับสัญญาณเฟสของไฟฟ้า และปรับเฟสให้ตรงกัน และมีการปรับความต่างศักย์ของตัวเครื่องให้มากกว่าระบบไฟฟ้าแบบ grid เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านแทนระบบไฟฟ้าเดิม
ว่ากันตามหลักการแล้ว เราสามารถขนานเครื่อง inverter เข้าด้วยกันได้ไม่จำกัดอยู่แล้ว ตราบใดที่เครื่อง inverter สามารถผลิตไฟฟ้าที่มีความต่างศักย์สูงกว่าระบบไฟเดิมที่วิ่งอยู่ เพื่อให้กระแสไหลเข้าระบบ

ตัวอย่างเช่นระบบไฟฟ้าปัจจุบันอยู่ที่ 230 Volt เครื่องจะต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ความต่างศักย์มากกว่า 230 Volt ยิ่งกำลังการผลิตมากก็ต้องให้ได้ความต่างศักย์ที่สูงมาก อาจจะถึง 235 Volt
นั่นเพราะการไหลของกระแสไฟฟ้าก็เหมือนการไหลของน้ำ คือน้ำไหลจากที่สูงลงมาที่ต่ำ ถ้าความสูงแตกต่างกันไม่มากการไหลก็จะเอื่อยๆ แต่ถ้าความสูงแตกต่างกันมากก็จะไหลแรง
ตัวอย่างเช่น เครื่องผลิตได้ 1kW อาจจะสร้างความต่างศักย์แค่ 232 Volt แต่พอผลิดได้ 3kW ต้องสร้างความศักย์ถึง 240 Volt ถ้าไปที่ 5kW ความต่างศักย์ไต่ไปที่ 250 Volt ก็มี
ดังนั้นการขนานเครื่องเข้าด้วยกันหลายๆ เครื่อง แต่ละเครื่องต่างก็ต้องสร้างความต่างศักย์แข่งกันเองเพื่อแย่งกันไหลเข้าระบบ ถ้าความต่างศักย์ตั้งต้นสูงอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้ที่ตัวเองอาจจะผลิตความต่างศักย์ได้ไม่สูงพอ ผลก็คือจะแสดงข้อมูล grid error ออกมา
ดังนั้นก่อนซื้อเครื่อง on grid inverter เราควรตรวจสอบก่อนว่าเครื่องนั้นสามารถผลิตความต่างศักย์ได้สูงสุดเท่าใด อย่างยี่ห้อ INVT ตามสเปคระบุว่าผลิตได้สูงถึง 270 Volt อย่างนี้ค่อยน่าคบหน่อย
ข้อมูลตัวนี้ไม่ใช่ nominal voltage นะครับที่ส่วนใหญ่จะระบุค่า 230 Volt แต่เราต้องดู spec sheet ซึ่ง INVT 3KW ระบุ 180 – 270 Volt ทำให้เรามั่นใจได้ว่าขนานกันได้หลายเครื่องแน่ ๆ ซึ่งว่ากันตามหลักแล้ว 5 เครื่องนี่ถือว่ายากที่จะทำได้ในช่วงพีค ถ้าจะใช้หลายเครื่องขนาดนี้ แนะนำให้เปลี่ยนไปเป็นตัวที่ใหญ่กว่าอย่าง 5kW หรือ 10kW ไปเลยดีกว่าครับ

คนละยี่ห้อกัน คนละรุ่น ขนานกันได้หรือไม่
ตามที่ให้ข้อมูลไว้แล้วด้านบน คนละยี่ห้อกันก็ขนานกันได้ ตราบใดที่เครื่องสามารถสร้างความต่างศักย์สูงๆได้
แต่จากการทดสอบที่ผ่านมา เครื่องขนาดเล็กเช่น 1kW 2kW มักจะจอดอยู่แถวๆ 240 Volt คือตอนที่เครื่องใหญ่ผลิตไฟเต็มที่เช่น 3kW 5kW ความต่างศักย์ที่ออกมาจากต้นเครื่องอยู่ที่ราวๆ 250 Volt บรรดาเครื่องเล็กๆที่ขนานกันอยู่จะฟ้อง grid error กันเป็นแถว
จากการทดสอบพบว่า เมื่อขนานเครื่อง 3kW+3kW 2kW 1kW รวม 4 เครื่องเข้าด้วยกัน ตอนผลิตไฟได้เต็มที่ ความต่างศักย์แตะ 255 Volt ระหว่างนั้นเครื่อง 1kW ฟ้อง grid error ไปก่อน พอความต่างศักย์สูงขึ้นไปอีกเครื่อง 2kW ก็ฟ้อง grid error ต่อ เครื่องกำลังวัตต์เท่ากันยังแข่งกันอยู่ได้ ส่วนเครื่องที่กำลังวัตต์น้อยกว่ายอมถอยก่อน ซึ่งเมื่อแดดเริ่มอ่อน เครื่องกำลังวัตต์น้อยก็จะกลับมาทำงานเหมือนเดิม เพราะความต่างศักย์ในระบบเริ่มลดลง

บทสรุป
ongrid inverter หรือ grid tie inverter จะสามารถขนานกันได้หลายๆเครื่องแน่นอน ถ้าเป็นยี่ห้อเดียวกัน กำลังวัตต์เท่ากัน และเครื่องวัตต์สูงย่อมขนานเครื่องกันได้มากกว่า ถ้าโหลดเยอะความต่างศักย์ลดลงก็ขนานกันได้มากเครื่อง
แต่หากเป็นเครื่องที่มีกำลังวัตต์ต่างกัน เครื่องกำลังวัตต์น้อยจะหยุดทำงานก่อน ดังนั้นการพิจารณาซื้อหา inverter จึงไม่ควรจะเป็นหลายยี่ห้อ หลายรุ่นมากนัก ยกเว้นจะมีหลายบ้าน หรือมีโหลดเยอะ ในแต่ละบ้านขนานกันเต็มที่ 3 ถึง 4 เครื่องก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเปล่าทางพลังงานเนื่องจาก inverter ไม่ทำงาน
ดังนั้นเรามักจะเห็นการขาย inverter ในตลาดมือสองกันประปราย เพราะการหันไปเล่นเครื่องที่ใหญ่กว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งกันเอง ส่วนใครที่มีเครื่องเล็กๆเยอะๆ เกินความจำเป็นก็อาจจะต้องคิดขยับขยายไปเล่นเครื่องใหญ่ให้น้อยเครื่องลง น่าจะเป็นการดีกว่านะครับ
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.