โดรนพลังงานแสงอาทิตย์ บินได้นาน 7 เท่าของโดรนทั่วไป

ปัจจุบันเราพบว่าโดรนใช้แบตเตอร์รี่นั้นจะบินได้นานประมาณ 30 นาทีเท่านั้น ซึ่งก็คือโดรนแบบสี่ใบพัดที่เราซื้อหามาเล่นกันทั่วไปนั่นเอง ไม่นับโดรนประเภทมีปีกที่ใช้ทางทหารซึ่งติดโซล่าร์เซลบินได้นานอยู่แล้ว เนื่องจากใช้พลังงานในการบินน้อย เพราะอาศัยการร่อนของเครื่องเป็นหลัก แต่การบินขึ้นลงก็ต้องหาทางวิ่งยาวๆ เหมือนเครื่องบิน
การหาแหล่งพลังงานอย่างอื่นสำหรับโดรนแบบสี่ใบพัด (Quadcopter) ก็จะลำบากในการเชื่อมต่อพลังงานหรือในแง่ของน้ำหนักของตัวให้พลังงานเอง การใช้โซลาร์เซลล์ก็มีการพยายามวิจัยให้ใช้ได้กับโดรนแบบสี่ใบพัดเช่นเดียวกัน แต่ปัจจัยน้ำหนักและการใช้พลังงานคือประเด็นสำคัญที่ทำให้บินได้ไม่นาน
ล่าสุดนักวิจัยในไต้หวันได้พัฒนาโดรนสี่ใบพัดที่สามารถบินได้ต่อเนื่องนานกว่า 3 ชั่วโมงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งบินได้นานกว่าโดรนทั่วไปถึง 7 เท่าเลยทีเดียว ด้วยน้ำหนักรวม 1.3 กิโลกรัม
ปกติแล้วแหล่งพลังงานของโดรนสี่ใบพัดนั้นถ้าไม่ใช้น้ำมันก็อาศัยพลังงานจากแบตเตอร์รี่ แต่การพกพาน้ำมันขึ้นไปบนอากาศนั้นมีความเสี่ยงที่จะลุกไหม้ หรือระเบิดได้ถ้าระบบไม่รัดกุมพอ การใช้แบตเตอร์รี่จึงมีความปลอดภัยสูงกว่า แต่ปัญหาคือความจุแบตเตอร์รี่ยังน้อยและน้ำหนักมาก ทำให้บินได้ไม่นาน และมักจะบินได้ไม่เกิน 30 นาที การบินเพื่อถ่ายภาพช็อตยาวๆจึงทำได้ยาก
การพัฒนาโดรนครั้งนี้อาศัยแหล่งพลังงานจากโซลาร์เซลจึงต้องพัฒนาให้มีน้ำหนักเบา และต้องออกแบบเป็นอย่างดีเพื่อให้สามารถบินขึ้นเพื่อแบกน้ำหนักแผ่นโซลาร์เซลขึ้นไปได้ จึงได้มีการออกแบบโซลาร์เซลขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อให้มีน้ำหนักเบาที่สุด โดยได้มีการพยายามจัดรูปแบบโซลาร์เซลล์ที่แตกต่างกันไป จนพบว่าช่วงที่บินได้นานที่สุดนั้น สามารถบินได้นาน 3 ชั่วโมง 28 นาที
ได้มีการทดลองบินพร้อมกับติดตั้งแบตเตอร์รี่ไปด้วย เพื่อให้ได้โวลท์คงที่ และพบว่าตอนแดดดีๆ โซลาร์เซลก็ชาร์ชแบตไปด้วย นั่นแสดงว่าถ้าแดดดีๆ ก็สามารถบินได้โดยไม่ต้องลงจอดก้นเลยทีเดียว
แต่ก็อย่างว่าแหละครับ โดรนนี้ยังเป็นเพียงต้นแบบเท่านั้น คงต้องรออีกซักพักถึงจะมีโดรนแบบนี้มาวางขาย ส่วนใครจะทดลองทำเองดูบ้างก็ไม่ว่ากันนะครับ แต่แนะนำว่าการชาร์ชแบตไปด้วยนั้นควรจะมีวงจรควบคุมการชาร์ชด้วย เพราะการทดลองที่ผ่านมาแบตระเบิดกลางอากาศมาแล้วเนื่องจากไม่ได้ใส่วงจรควบคุมการชาร์ชนั่นเอง
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.