News Ticker

รีวิว Grid Tie Inverter INVT MG3KTL ขนาด 3 KW จากการใช้งานจริง

สำหรับคนที่ติดตั้งระบบโซล่าร์เซลกันเอง แล้วกำลังมอง Grid Tie Inverter ระบบ on grid ขนาดเล็กๆแล้วละก็ อินเวอร์เตอร์ขนาด 3KW นั้นถือได้ว่ามีขนาดที่เหมาะสมอยู่พอตัว ด้วยหลายๆปัจจัยด้วยกัน

นั่นคือสาย AC ที่จ่ายเข้าระบบใช้ขนาด 2×2.5 ก็พอไหวเพราะกระแสไฟ AC ที่ได้ออกมาก็อยู่ราวๆไม่เกิน 13A ถ้าไปเล่นระบบ 5kW อย่างน้อยก็ต้องลากสาย AC 2×4 ถ้าระห่างจากเครื่องไปยัง Main Braker ของบ้านอยู่ไกลก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสายไฟเพิ่มขึ้นไปอีก แถมสายยังมีน้ำหนักแบบสาย 1 ม้วนนี่แทบจะกล้ามขึ้นกันเลยทีเดียว

ปัจจัยต่อมาก็คือ การลงทุนระบบ 3KW ใช้แผงโซล่าร์ประมาณ 8 แผง สำหร้บแผงขนาด 340W – 370W ซึ่งไม่ควรใช้แผงมากกว่านี้เพราะการใช้งานที่ผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด ความร้อนจะสูงอายุการใช้งานของอุปกรณ์ก็จะสั้นลง

เมื่อใช้ 8 แผงทำให้เราสั่งซื้อรางขนาด 4.2 เมตรจำนวน 2 ชุดพอดิบพอดี ไม่มีเหลือไม่ขาด และสำหรับบ้านแนวทาวเฮ้าส์ขนาดหน้ากว้างจะอยู่ที่ราวๆ ไม่เกิน 5 เมตร ก็จะติดตั้งได้พอดี รวม 2 แถวเดินสายอนุกรมลงมาก็ไม่เปลืองสายไฟมากอีกด้วย

คำนวนต้นทุนคร่าวๆ 8 แผงแบบโมโนราคาแผงละ 4000 ก็รวมราวๆ 32,000 บาท ค่า inverter พร้อม Wifi ก็ราวๆ 15,000 บาท ค่ารางพร้อมอุปกรณ์ติดตั้งรวมเฉลี่ยแผงละ 1,000 บาท รวม 8,000 บาท ค่าเบรกเกอร์และสายไฟก็อีกไม่เกิน 5,000 บาท รวมๆแล้วต้นทุนอุปกรณ์ไม่รวมค่าแรงก็จะอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทเท่านั้น เฉลี่ยที่ กิโลวัตต์ละ 20,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ถ้าเปลี่ยนลงมาเป็นแผงแบบโพลี ราคาก็จะลงไปอีก

การติดตั้ง inverter invt MG3KTL

อินเวอร์เตอร์ยี่ห้อ INVT รุ่น MG3KTL นี้จะไม่มีช่องพัดลมระบายอากาศใดๆทั้งสิ้น โดยตัวเครื่องจะมาพร้อมกับแผงระบายความร้อนขนาดใหญ่ด้านหลังเครื่อง การติดตั้งก็อาศัยการแขวนกับผนังซึ่งจะมีพุกเหล็กขนาดเล็กมาให้

แต่พอติดตั้งจริงพบว่า พุกเหล็กที่ให้มาเหมือนจะเล็กไปหน่อย ต้องเอาพุกขนาด 3 หุนมาใส่แทน และแน่นอนว่า ความยาวของพุกส่วนที่ยื่นออกมานอกผนังนั้นมันยาวเกินและจะไปเสียดสีกับแผงระบายความร้อนด้านหลังเลยจะทำให้ไม่สามารถติดตั้งได้

วิธีการแก้ปัญหาก็คือต้องหาเลื่อยเหล็กมาเลื่อยส่วนเกินของพุกออกแล้วจึงจะติดตั้งได้พอดี ประสบการณ์ที่ว่าต้องเปลี่ยนพุกนั้นเนื่องจากเครื่องแรกที่ติดตั้งโดยใช้พุกเหล็กที่ให้มานั้นมันไม่แน่นเลยทำให้ตัว inverter นั้นเอียงเข้าหาผนังเล็กน้อยแต่ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

เนื่องจากรีวิวนี้เป็นการรีวิวตัวเครื่อง อินเวอร์เตอร์ยี่ห้อ INVT รุ่น MG3KTL เท่านั้นนะครับ เราก็ไม่ขอกล่าวถึงตัวแผงโซลาร์เซลล์หรือส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่ว่าจะใช้อินเวอร์เตอร์ตัวไหนก็ต้องมีลักษณะคล้ายๆกันอยู่แล้ว

นั่นคือเมื่อติดตั้งตัวเครื่องเรียบร้อยแล้ว สายสัญญาณต่างๆที่ต้องเชื่อมต่อเข้ากับตัวเครื่อง อินเวอร์เตอร์ตัวนี้ก็จะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน

  1. สายไฟ DC จากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ตัวเครื่องจะมีหัวต่อสายสำหรับระบบโซลาร์ทั้งขั้วบวกและขั้วลบมาให้เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากอินเวอร์เตอร์รุ่นนี้เป็นแบบโวลท์สูงจึงไม่มีระบบขั้วเปลือยแบบ inverter ขนาดเล็กทั่วๆไป ทำให้เรามั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย

ใกล้ๆกันก็จะมี DC Switch มาให้เรียบร้อย เผื่อสำหรับการตัดไฟ DC ออกจากวงจร แต่ข้อแนะนำคือไม่ควรจะเปิดปิด DC Switch ระหว่างที่มีการผลิตไฟฟ้าใช้งานเต็มกำลังอยู่ แนะนำว่าให้ตัดไฟ AC ออกจากระบบก่อนแล้วค่อยปิดระบบไฟ DC ตัวนี้

สวิทส์ตัวนี้มันก็จะฝืดๆหน่อย ต้องออกแรงมากในการบิดหมุน กลัวอยู่เหมือนกันว่าลูกบิดจะหักเอาได้ ดังนั้นเวลาใช้งานปกติก็จะไม่ค่อยไปยุ่งวุ่นวายกับมันเท่าไหร่ ยกเว้นเวลามีการติดตั้งแผงหรือรื้อย้ายแผงโซล่าร์เพิ่มเติมเท่านั้น

2. การเชื่อต่ออันต่อมาก็เป็น Wifi โมดูลที่แถมมาพร้อมกับเครื่อง การติดตั้งอุปกรณ์ก็อาศัยแค่การหมุนยึดเข้ากับ RS 485 ที่ให้มาแล้วบนเครื่อง ส่วนการติดตั้งใช้งานก็จะกระทำผ่านทาง Application ที่ชื่อ Solarman ซึ่งติดตั้งใช้งานง่ายมาก เพียงไม่กี่ขั้นตอนตามคู่มือก็ใช้งานได้แล้ว

3. การเชื่อมต่ออีกจุดก็เป็นการต่อสายไฟ AC เข้ากับระบบ ซึ่งจะมีหัวต่อมาให้เรียบร้อย พร้อมสกรูหกเหลี่ยมที่เมื่อขันสายไฟเข้าไปแล้วต้องเก็บไว้ดีๆ ไม่งั้นจะเปลี่ยนสายไฟทีหลังก็อาจจะลำบากกันหน่อย

เครื่องขนาด 3KW กระแสเต็มที่ก็ประมาณ 13 Amp ใช้สายไฟขนาด 2.5 sqmm ก็เพียงพอแล้วเพราะตามสเปคของสายที่รองรับกระแสได้สูงถึง 20A เลยทีเดียว

ติดตั้งเสร็จเปิดเครื่องใช้งานปล่อยไฟเข้าไป รีเลย์ในเครื่องจะมีเสียงดังก้อกๆแก้กๆอยู่ราวๆ 30 วินาที เครื่องก็จะค่อยๆปล่อยไฟออกมา อย่างเครื่องนี้ใช้ 7 แผงแบบโพลี ได้ไฟออกมาราว 1.8 กิโลวัตต์ ซึ่งแผงเอียงไปทางทิศใต้ แต่ช่วงนี้ดวงอาทิตย์อยู่ค่อนไปทางทิศเหนือแล้ว

ส่วนอีกตัวใช้แผงโมโนจำนวน 8 แผง ทุกแผงตั้งฉากกับแนวตะวันตกตะวันออกแต่หันเอียงไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อยตามมุมของหลังคาคือราว 10 องศา ช่วงบ่ายโมงได้ไฟออกมาประมาณ 2.5kW เคยทำได้สูงสุดหลังฝนตกแล้วแดดแรงเต็มที่ตอนบ่ายๆสูงถึง 3.1 kW ก่อนที่แผงจะมีอุณหภูมสูงขึ้นแล้วได้กระแสลดลงมาอยู่ที่ราวๆ 2.8kW

หน้าจอ LCD ที่อยู่บนตัวเครื่องจะมีการหมุนเวียนแสดงค่าทั้งหมด 3 หน้าจอด้วยกันคือ

  • ค่า out put ที่ได้เช่นค่า กำลังไฟฟ้า ค่าโวลท์ และค่ากระแส AC
  • ค่าไฟขาเข้า คือ Vin Ain และค่าอุณหภูมิของเครื่อง โดยพบว่า ถ้าไม่มีพัดลมระบายความร้อนอุณหภูมิจะสูงประมาณ 60 องศา แต่หากเพิ่มพัดลมระบายความร้อน (ซื้อหามาเอง) ตัวเล็กๆ วางไว้บนเครื่องเป่าลมลงมาทางด้านหลัง อุณหภูมิจะลดลงเหลือประมาณ 40 องศาปลายๆ สำหรับช่วงที่ผลิตกำลังไฟฟ้าออกมาสูงสุดของวันดังรูปด้านล่าง
  • ส่วนหน้าจอสุดท้ายจะเป็นการแสดงค่าพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ในรอบวัน และพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้นัตั้งแต่การเปิดใช้งานครั้งแรก

ผลที่ได้จากการอ่านค่าด้วยมิเตอร์ภายนอก พบว่าผลที่ใกล้เคียงกัน ดังแสดงในภาพด้านล่สางสำหรับผลลัพธ์จากเครื่องที่อ่านค่าได้ 2.5 kW

ในส่วนของ แอพที่ใช้งานผ่านมือถือ สามารถดูผลการผลิตไฟฟ้าได้เกือบ real time โดยจะมีการส่งข้อมูลเข้าตัวเก็บข้อมูลประมาณทุกๆ 10 นาที ค่าที่แสดงก็เพียงพอแล้วที่จะบอกว่าในแต่ละวันได้ค่ากำลังไฟฟ้าเท่าไหร่

แต่ที่น่าสนใจก็คือกราฟแสดงผลผลิตที่ได้ในแต่ละวัน ซึ่งเสียดายที่แสดงเฉพาะวันเดียวเท่านั้น วันอื่นๆย้อนหลังไม่แสดง

กราฟนี้ทำให้เรารู้สภาพแดดของทั้งวันว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ช่วงไหนเมฆมากเมฆน้อย นับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับการติดตามดูผลที่ได้ในรอบวันเป็นอย่างดี แต่ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นเฉพาะวันนี้เท่านั้น ไม่สามารถดูย้อนหลังเป็นรายวันได้ สงสัยว่าจะเป็น bug ในโปรแกรมหรือเปล่าก็ไม่อาจทราบได้

สำหรับข้อมูลย้อนหลังในรอบเดือน ทำให้เห็นผลผลิตที่ได้ในแต่ละวัน เสียอย่างเดียวสเกลทางซ้ายเป็นแบบตามใจฉันทำให้ประมาณค่าได้ยากมาก ต้องมาบวกลบเลขในใจคร่าวๆก่อนถึงจะพอเดาได้ว่าในแต่ละวันได้ผลผลิตเท่าใด

บทสรุป

สำหรับคนที่กำลังมองหา inverter แบบ on grid ขนาดเล็กๆ ใช้งานในครัวเรือน อินเวอร์เตอร์ยี่ห้อ INVT รุ่น MG3KTL ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากราคาเครื่องไม่แพง รวม Wifi แล้วไม่เกิน 15,000 บาท แถมผ่านการรับรองจากการไฟฟ้า น้ำหนักไม่มาก เครื่องทำงานแบบเงียบเชียบเนื่องจากไม่ได้ระบายอากาศโดยการใช้พัดลม (แต่ใส่เพิ่มก็จะดีในการยืดอายุการใช้งานของเครื่อง)

การติดตั้งก็ทำได้โดยง่าย หน้าจอแสดงผลครบครัน เสียแต่ว่าข้อมูลผ่าน app อัพเดทไม่ค่อยจะทันใจเท่าไหร่ จะดูข้อมูลเรียลไทม์ต้องวิ่งไปดูที่เครื่อง หน้าจอจะเล็กไปนิด แต่ก็พอดูได้

ผมใช้เครื่องนี้แล้วติดใจจนต้องซื้อเครื่องที่สองมาใช้ เพราะไม่อยากเปิดหลายแอพเพื่อดูผล output ได้รวดเร็ว แต่คิดว่าถ้าจะซื้อเพิ่มครั้งต่อไปก็อาจจะเปลี่ยนยี้ห้อบ้าง แต่รอให้เครื่องที่การไฟฟ้ารับรองลงมาที่ราคาแถวๆนี้ก่อน แล้วจะนำมารีวิวการใช้งานให้ดูกันอีกทีนะครับ

Leave a comment